Stateless Watch’s Weblog

โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

จดหมายความเห็นทางกฎหมาย (Legal Opinion)(ฉบับที่ ๑๐) ต่อการดำเนินการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าศึกษาของสถาบันการศึกษา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘ ถึงศูนย์กศน.เขตวัฒนา

 ที่ ฝสร.๑๐/๒๕๕๑

วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๑

 

เรื่อง  ความเห็นทางกฎหมาย (Legal Opinion) ต่อการดำเนินการรับนักเรียนนักศึกษา

       เข้าศึกษาของสถาบันการศึกษาตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับ

       นักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘

เรียน  ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขตวัฒนา

อ้างถึง ๑) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐

        ๒) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง, กติการะหว่าง ประเทศ

        ว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

        ๓) ยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๘ มกราคม

        ๒๕๔๘)

        ๔) มติคณะรัฐมนตรี ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เรื่องร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วย

        หลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ….

        (การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย)

        ๕) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียน

        ในสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘

           สืบเนื่องจาก โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch) ได้รับแจ้งจากองค์กรเครือข่าย คือ โครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐและไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าได้มีบุคคลไปสมัครเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขตวัฒนาเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยทางหน่วยงานของท่านให้เหตุผลด้วยวาจาว่า “การสมัครจำเป็นต้องมีเอกสารรับรองจากทางราชการ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” รวมถึงระบุว่าผู้สมัครจำเป็นต้อง “หาคนรับรองมาว่าคุณพักอาศัยอยู่ที่ไหน ทำงานที่ไหน มีความประพฤติเป็นเช่นไร

           ทางโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐและองค์กรเครือข่าย จึงเรียนมาเพื่อขอเสนอความเห็นทางกฎหมาย ข้อหารือและข้อห่วงใยกับศูนย์กศน.เขตวัฒนา ดังต่อไปนี้

           ข้อ ๑. ทางโครงการฯ ขอเรียนย้ำต่อศูนย์กศน.เขตวัฒนา ว่า สิทธิในการศึกษาของบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน ที่มาตรา ๔๙ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวนี้ รวมถึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับรองไว้เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ โดยสิทธิในการศึกษาของบุคคล ย่อมไม่สามารถถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง (มาตรา ๓๐ แห่งรัฐธรรมนูญฯ) ทั้งยังเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะถูกละเมิดมิได้ (มาตรา ๔ แห่งรัฐธรรมนูญฯ)

           ศูนย์กศน.เขตวัฒนา ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ผูกพันต้องเคารพและให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง (มาตรา ๒๗ แห่งรัฐธรรมนูญฯ) และต้องใช้อำนาจโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว (มาตรา ๒๖ แห่งรัฐธรรมนูญฯ)

 

           ข้อ ๒. ในการเข้าถึงสิทธิการศึกษา หรือในทางตรงกันข้ามคือการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถานศึกษา การเรียกหลักฐานจากผู้สมัครนั้น ย่อมเป็นไปตามข้อ ๖ แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘ ที่กำหนดว่า

                        “ข้อ ๖ การรับนักเรียนนักศึกษาในกรณีที่ไม่เคยเข้าเรียนในสถานศึกษามาก่อน ให้สถานศึกษาเรียกหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำดับเพื่อนำมามาลงหลักฐานทางการศึกษา ดังต่อไปนี้

                          (๑) สูติบัตร

                          (๒) กรณีที่ไม่มีหลักฐานตาม (๑) ให้เรียกหนังสือรับรองการเกิด บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หรือหลักฐานที่ทางราชการจัดทำขึ้นในลักษณะเดียวกัน

                          (๓) ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานตาม (๑) และ (๒) ให้เรียกหลักฐานที่ทางราชการออกให้หรือเอกสารตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้ได้

                          (๔)  ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือองค์กรเอกชนทำบันทึกแจ้งประวัติบุคคล ตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้ เป็นหลักฐานที่จะนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา

                          (๕)  ในกรณีที่ไม่มีบุคคลหรือองค์กรเอกชนตาม (๔) ให้ซักถามประวัติบุคคลผู้มาสมัครเรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำลงรายการบันทึกแจ้งประวัติบุคคลตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้ เป็นหลักฐานที่จะนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา

 

           ข้อ ๓. จากข้อกฎหมายข้างต้น แม้ผู้สมัครเรียนไม่มีพยานเอกสารใดๆ ศูนย์กศน.เขตวัฒนา ก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการรับสมัคร โดยดำเนินการตามข้อ ๖ (๕) การปฏิเสธไม่รับการสมัครของบุคคลเพื่อเข้ารับการศึกษา จึงอาจถูกตีความได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการศึกษาของบุคคลตามมาตรา ๔๙  ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยตามมาตรา ๔ และหลักความเสมอภาคตามมาตรา ๓๐ แห่งรัฐธรรมนูญฯ, ละเมิดต่อเจตนารมณ์แห่งพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ อันเป็นกฎหมายแม่บทของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษาฯ และอาจหมายถึงการละเลย ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๙ (๓) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมถึงการกำหนดให้ผู้สมัครต้องนำพยานหลักฐาน รวมถึงพยานบุคคลมารับรอง ย่อมอาจหมายถึงการกำหนดขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดแก่บุคคลอันเกินสมควร เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับบุคคลเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ตามมาตรา ๙ (๑) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ นอกจากนี้ยังอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

 

            ข้อ ๔.  นอกจากนี้ สิทธิในการศึกษายังเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดย ข้อ ๒๖ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งผูกพันประเทศไทยในฐานะกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ, ข้อ ๑๓ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights- ICESCR) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ (Accession) เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๒ และมีผลบังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ทั้งยังขัดต่อหลักการและสิทธิทางการศึกษาที่ได้รับการรับรองไว้ตาม ข้อ ๕ (ฉ) (๕) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี โดยการภาคยานุวัติ (Accession) เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖  และมีผลบังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

           ที่สำคัญคือ ข้อ ๒๖ แห่งกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง   (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐ เป็นต้นมา และขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานประเทศ (Country Report) โดยการบันทึกถึงการปฏิบัติงานของภาคส่วนราชการ และรายงานฉบับนี้จะถูกรายงานต่อสหประชาชาติในปี ๒๕๕๒

 

           ทางโครงการฯ ขอเรียนว่า ภาคประชาสังคมและภาควิชาการมีข้อกังวลและข้อห่วงใยต่อการตีความและแนวปฏิบัติของศูนย์ กศน.เขตวัฒนา ด้วยเจตนารมณ์ของสถาบันการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาความรู้ ความสามารถเพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของบุคคล และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจและส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาของบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกราบรื่น หากท่านมีข้อขัดข้องประการใด ทางโครงการฯ รวมถึง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยินดีที่จะเป็นสื่อกลางในการประสานงานด้านต่างๆ เพื่อการบรรลุถึง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และขอขอบคุณมาล่วงหน้าถึงความเข้าใจในปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติต้องเผชิญในการดำรงชีวิต

 

   จีงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

 

ขอแสดงความนับถือ

                                                                                   

( ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล )

นักกฎหมาย

โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

 

 สำเนาถึง:

๑) ประธานวุฒิสภา

๒) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๓) ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

๔) ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา

๕) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ

๖) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

๗) เลขาธิการสำนักงานกศน. สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

๘) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร

ดาวน์โหลดไฟล์จดหมาย

2551-12-08_legalopinion_to_yodrakcase1

_____________________________________________________________________________
เราจะปลูกต้นรัก…ข้ามพรมแดน (ตอน 1 )

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

 9 ธันวาคม 2551

“ทำไมอยากจดทะเบียนสมรสล่ะ”ข้าพเจ้าเอ่ยถาม

“อยากทำให้ถูกต้องค่ะ อยากพาเขาไปบ้านหาพ่อแม่ อยากช่วยเขาเรื่องไม่มีบัตร แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง” เสียงจากปลายสายโทรศัพท์ ตอบกลับมาชัดเจน

น.(นามสมมติ) สาวน้อยจากเมืองเลย เป็นคู่สนทนาที่ข้าพเจ้าได้พูดคุยเรื่องราวของเธอ กับการปลูกต้นรักผ่านทางโทรศัพท์ ข้าพเจ้าอดแปลกใจไม่ได้ที่ทุกคำตอบของเธอจะฉะฉาน ชัดเจน กลายเป็นข้าพเจ้าเองที่รู้สึกเขินอายกับการพูดคุยเรื่องราวระหว่างเธอกับคนรัก

หลังจากเรียนจบ น.ก็เหมือนกับเด็กสาวหลายคนที่เดินทางมาหางานทำในเมืองใหญ่ แต่ชีวิตของเธอเริ่มจะแตกต่างจากหญิงสาวทั่วไปเมื่อ ปี 2550 หลังจากทำงานมาได้ปีกว่าๆ เธอได้รู้จักกับ ย.(นามสมมติ)ชายหนุ่มที่ทำงานอยู่บริษัทเดียวกัน ระหว่างนั้นทั้งเธอและเขาต่างก็มีแฟนกันอยู่แล้ว

และเมื่อได้รู้จักกันมาขึ้น ความแตกต่างระหว่างแฟนของน.กับย.ก็เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น

“เขาเป็นคนดี รักจริง ขยันทำงาน ถึงเงินเดือนจะไม่เยอะมากแต่เขาไม่มีภาระอะไร ก็น่าจะเก็บเงินกันได้ เจ้านายก็ยินดีด้วยถ้ารักกันเพราะเขาเป็นคนดี ถ้าเรารับเขาได้” น.เล่าถึงชายคนรัก

คำว่า “รับได้” สำหรับ น. นั้น หมายความถึงเธอกำลังจะเริ่มต้นชีวิตคู่กับชายที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเอกสารอะไรเลย ซึ่งทำให้เธอได้หาข้อมูลต่างๆเพื่อทำความเข้าใจกับเขา และหนทางที่จะทำให้เขาได้รับบัตรประชาชน ร่วมปีแล้วที่ความพยายามของทั้งคู่ยังไม่เป็นผล แต่เมื่อราว 6 เดือนก่อนต้นรักของพวกเขาก็หยั่งรากลง น.ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกับเขาทั้งๆที่เธอก็รู้แก่ใจว่าหนทางจากนี้ยังไม่รู้ได้ว่าจะต้องพบกับอะไรบ้าง

ชีวิตของ ย.

ย. เป็นหนุ่มไทใหญ่ วัยยี่สิบแปดปี  เกิดที่เขตรัฐฉาน ประเทศพม่า  มีพี่น้องทั้งหมดห้าคน ย.เป็นคนที่สอง เมื่ออายุ 12 ปี ได้บวชเรียนหนังสืออยู่ที่วัดบ้านเกิด เรียนภาษาไทยใหญ่และจำพรรษาอยู่ที่วัด 2 พรรษา หลังจากนั้นได้สึกออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานรับจ้างเพราะฐานะทางบ้านยากจน

หลังจากนั้นอีกหลายปีมีข่าวว่าจะมีการสู้รบกันกับทหารไทยใหญ่และพม่า และมีทหารไทยใหญ่จะมาจับเอาผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 15  ปีขึ้นไป เอาไปเป็นทหาร ด้วยความกลัวๆว่าลูกชายจะโดนจับ พ่อแม่จึงให้ย.กลับไปบวชอีกครั้ง

เมษายน ปี 2544 ย. จึงได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับญาติทางชายแดนบริเวณหมู่บ้านบางหมู โดยทางด่านก็ขอดูใบบวชเท่านั้นแล้วก็ให้ผ่านเข้ามา ย. เข้ามาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยเดื่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่บ้านญาติ หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน ญาติได้พามาขอจำพรรษาที่วัดห้วยเดื่อ

หลังจากจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ได้ 1 พรรษา  ย. ได้รู้จักกับยายคนหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ โดยยายบอกว่ามีลูกเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่เชียงใหม่ และถ้าอยากไปจำพรรษาอยู่ที่นั่นยายจะติดต่อให้  หลังจากนั้นมาไม่กี่สัปดาห์ ยายแจ้งข่าวดีกับย.ว่าลูกยายจะรับ ไปจำพรรษาที่วัดแห่งนั้น

1 สัปดาห์ต่อมา ช่วงเดือนมกราคม 2545 พระจากเชียงใหม่(ลูกของยาย)ได้เอาเอารถมารับ ย. กับเพื่อนพระอีก 1 รูป มาอยู่ที่วัดพระนอน ตำบลต้นเบา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ ย.ได้รู้จักกับเพื่อนอีกหลายคน และด้วยความอยากเรียนภาษาอังกฤษ ย.และเพื่อนจึงได้ชักชวนกันมาหาเรียนที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ไม่ได้เรียน และได้ไปอยู่ที่วัดฝาง อำเภอขุนยวมแทน

น.อยู่ที่วัดฝางได้ประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นได้ย้ายไปที่วัดวังน้อยอีก 1 พรรษา และเมื่อหวนกลับมาที่วัดพระนอนแล้วเจ้าอาวาสไม่ยอมรับ จึงได้ไปอยู่ที่วัดกลางทุ่ง ตำบลทุ่งต้อม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่แทน และที่วัดแห่งนี้เองทำให้ ย. พบกับคนสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไป

“นานเหมือนกัน ผมได้รู้จักกับตาคนหนึ่งเขาดีกับผมมาก เขาคงเห็นผมพัฒนาตามวัดแล้วคงจะถูกใจ พออยู่มานาน ตาเขาก็บอกว่า ผมก็ไหว้เหมือนลูกเขาคนหนึ่งเช่นกัน  (ตาชื่อพ่อบุญลบ แม่ชื่อยายศรี  ชัยวงศ์ )ไม่ว่าผมจะไปไหนพ่อผมคนนี้จะไปรับไปส่งผมตลอด” คำบอกเล่าของ ย.

จนกระทั่งวันหนึ่งมีข่าวว่า จะมีการส่งกลับสามเณรไทยใหญ่ (พม่า) ที่ไม่มีเอกสารใดๆ แล้วพ่อบุญลบก็ได้ช่วยสอบถามเรื่องดังกล่าว- สุดท้ายก็ไม่มีคำตอบ พ่อบุญลบจึงได้พา ย.ไปหาคณะกรรมการวัดเพื่อไปขอความช่วยเหลือเจ้าคณะอำเภอเพื่อที่จะอยู่ที่วัดต่อ แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเพราะท่านบอกว่า มีหนังสือมาจากเจ้าคณะจังหวัดจึงไม่สามารถช่วยได้ และท่านก็บอกเพียงสั้นๆว่า “เอ็งเกิดมาผิดที่” และบอกว่าให้ไปทำพาสปอร์ตสมา

หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันพ่อบุญลบ คณะกรรมการวัด ญาติโยมและเจ้าคณะตำบลไปส่งย.ที่แม่ฮ่องสอน โดยไปข้างคืนที่วัดห้วยเดื่อ 2 คืน หลังจากนั้นจึงนั่งรถไปที่ชายแดนแล้วกลับไปพม่า หลังจากนั้น 2 เดือน ย. จึงกลับมาประเทศไทยอีกครั้งบริเวณชายแดน จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากเดินเท้ามาไกลกว่า 10 ชั่วโมง จากนั้นมีรถมอเตอร์ไซต์ของผู้รับจ้างพาเข้ามารับไปที่พักในตัวอำเภอเมืองและพอตกเย็นก็มีรถกระบะ(ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท/คน) มารับและมาส่งที่ ห้องพัก จังหวัดเชียงใหม่  หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน ทางผู้รับจ้างก็มาส่งขึ้นรถทัวร์เพื่อเข้ากรุงเทพฯ มาถึงบริเวณดอนเมือง จึงมีรถแท็กซี่มารับไปส่งที่ห้องพัก

พบรัก

เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ได้ 2 วัน ระหว่างนั้นย. จึงเดินหางานทำ เมื่อเห็นตึกทาสี จึงเข้าไปถามว่ารับคนงานทาสีไหม บังเอิญไปเจอเป็นเถ้าแก่พอดี และไม่ได้ขอดูบัตรโดยรับเข้าทำงานเลยเพราะไม่ได้เปิดเป็นบริษัทฯ ได้ค่าแรงวันละ 260 บาท อยู่แถวท่าน้ำนนท์ประมาณ 3 เดือน

แล้วย้ายที่ทำงานไปแถวอ่อนนุชทำงานทาสีที่นั่นประมาณ 1 ปี จึงได้รู้จักผู้หญิงไทใหญ่ ที่ทำงานบ้านที่ไปทาสี โดยเจ้านายของผู้หญิงแนะนำว่าเขามีลูกชายและลูกสะใภ้ที่เปิดบริษัทฯ ซึ่งเห็นว่าเขาพูด-เขียน-อ่านไทยได้ จึงเอาไปฝากที่บริษัทฯ และได้เริ่มงานตั้งแต่ปลายปี 2547 ฝ่ายจัดของในสต๊อก ตรวจสอบของในสต๊อก เงินเดือนเริ่ม 6,500 บาท ปัจจุบัน 8,000 บาท ทำให้ได้มารู้จักกับ น.ซึ่งทำงานคนละแผนก

“ผมก็ได้บอกเธอไปว่าผมไม่ใช่คนไทย และก็เล่าเรื่องทุกอย่างให้เธอฟัง แต่เธอก็ยอมรับผมได้ ตอนนั้นเธอก็มีแฟนอยู่แล้วเช่นกัน แต่ว่าด้วยความที่เราได้ทำงานร่วมกันตลอดได้รู้จักนิสัยใจคอกันมากขึ้นจึงก่อให้เกิดความรัก ผมจึงได้บอกเลิกกับแฟนคนเก่า และแล้วเราก็ได้ตัดสินใจคบกันเมื่อต้นปี 2551 และได้ย้ายมาอยู่ด้วยกันใน 6 เดือนต่อมา” ย. เล่าถึงเรื่องราวความรักของเขากับเธอ

ทั้งคู่ศึกษาข้อมูลต่างๆบนเวปไซต์  เคยติดต่อไปที่สถานฑูตพม่าในไทยก็ได้รับคำแนะนำให้ไปยื่นเรื่องทำพาสปอรต์ วีซา เข้ามาใหม่ แต่น. เองได้ยินมาจากในเวปของไทใหญ่ว่า พม่าจะไม่ออกหนังสือใดๆ ให้กับไทใหญ่

จึงไปโพสต์ ไว้ที่เวปไซต์หนึ่งแล้วมีคนแนะนำว่า ให้ไปขึ้นทะเบียนแรงงาน แต่ไม่กล้าถามกับเจ้านายโดยตรงเพราะเจ้านายบอกว่าเคยหาข้อมูลและบอกว่าต้องใช้เอกสาร

ก่อนหน้านี้ น. เล่าว่าพี่ที่บริษัทแนะนำว่า เพื่อนเขาเป็นคนพม่า ไม่มีเอกสารเหมือนกันแต่ไปให้ผู้ใหญ่บ้านรับรองให้เข้าในทะเบียนบ้านหลังนี้ได้ น.จึงได้ปรึกษากับเจ้าของบริษัทฯแล้วเห็นว่าไม่ควรทำเพราะเป็นการซื้อทะเบียนบ้านคนตาย สุดท้ายก็เลยไม่ได้ทำ

ทางเลือกที่ทั้งคู่กำลังชั่งใจอยู่จึงมี หนึ่ง-กลับไปที่พม่า สอง-ซื้อทะเบียนบ้านคนตายโดยเสียเงิน 2-3 หมื่นบาท และสาม-จดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งเป็นทางเลือกที่น.ได้รับคำแนะนำมาจากในเวบไซต์ เพราะมีความหวังว่าหากพวกเขาสามารถผูกพันกันตามกฎหมายแล้ว หนทางที่จะทำให้ชายคนรักได้รับการยอมรับเป็นคนไทย และได้รับการยอมรับจากครอบครัวนั้นคงจะเป็นไปได้

 

_____________________________________________________________________________

เราจะปลูกต้นรัก…ข้ามพรมแดน (ตอนจบ )

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

19 ธันวาคม 2551

“เราได้คิดว่าหากมีบัตรเราคงจะเรียนหนังสือได้และได้ทำงานที่ดีกว่านี้ ด้วยตัวผมเองก็อยากเรียนหนังสืออยู่แล้ว และที่สำคัญอยากจะทำให้พ่อ แม่ของเธอยอมรับผมได้”

บนเส้นทางรัก-จดทะเบียนสมรส

8 ตุลาคม 2551 น. กับ ย. ตัดสินใจไปขอจดทะเบียนสมรสที่เขตบางกะปิ

ก่อนหน้านั้น น. ได้ติดต่อขอคำแนะนำกับ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ และรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร หรือ อ.แหวว เพื่อชั่งใจกับทางเลือกที่เธอมีอยู่ ณ ตอนนั้น

…เช้าวันนั้น ที่เขตบางกะปิ เจ้าหน้าที่สอบถามว่าทั้งคู่เคยเคยจดทะเบียนมาก่อนหรือไม่ จากนั้นได้ขอดูเอกสารต่างๆ  โดยเมื่อรู้ว่าฝ่ายชายไม่มีเอกสารใดๆ เจ้าหน้าที่จึงคืนบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของ น. พร้อมกับบอกว่าบอกว่ายื่นขอจดทะเบียนสมรสไม่ได้

น. จึงตัดสินใจโทรศัพท์ขอคำแนะนำจากพี่สุรพงษ์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมคุยโทรศัพท์กับพี่สุรพงษ์ และอ้างถึงหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย[1] ที่ระบุว่า ต้องมีหนังสือรับรองความโสดจากสถานทูต สุดท้ายเมื่อ น. ยืนยันตามคำแนะนำของพี่สุรพงษ์ เจ้าหน้าที่ก็ได้รับคำร้องโดยให้ฝ่ายหญิงลงชื่อในคำร้องเพียงคนเดียว

โดยหลักการแล้วกฎหมายไทยว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนสมรสนั้นคุ้มครองมนุษย์ทุกคนโดยไม่มีการเลือกแบ่งเชื้อชาติ หรือ สัญชาติ เพราะ  “การจดทะเบียนสมรส” เป็นสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวทางกฎหมาย ทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของสามีภรรยา สิทธิในครอบครัวเป็นของมนุษย์ทุกคน

แต่ในทางปฏิบัติ เงื่อนไขที่จะต้องเผชิญโดยตลอด คือคุณสมบัติและเงื่อนไขในการจดทะเบียนสมรสได้ คือ ทั้งคู่ต้องไม่มีคู่สมรสอยู่ก่อน และไม่เป็นพี่น้องกัน ซึ่งถ้าชายหรือหญิงเป็นคนสัญชาติไทย ระบบฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎรไทยก็จะสามารถตรวจสอบได้ แต่ถ้าทั้งคู่เป็นคนต่างด้าว ระเบียบของกรมการปกครองก็จะขอให้มีพยานหลักฐานหรือเอกรับรองความเป็นโสดจากสถานทูตที่ชายหรือหญิงต่างด้าวนั้นมีสัญชาติมาแสดง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ  แต่กรณีของคนไร้สัญชาตินั้นก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสถานทูตมารับรองความเป็นโสดให้ได้ ตามหลักกฎหมาย และ ระเบียบของกรมการปกครองก็ระบุชัดเจนว่า ให้คนต่างด้าวหาพยานหลักฐานมาแสดงว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนเช่นนั้นจริง

กรณีของ ย. นั้น ด้วยความที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆที่แสดงว่าเป็นคนสัญชาติพม่า และด้วยข้อมูลที่รู้มาว่าไม่ยอมรับ “ไทใหญ่” การไปติดต่อสถานทูตเพื่อดำเนินการดังกล่าวนั้น จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งหลายคู่ที่ข้าพเจ้าเคยได้ข่าวคราวก็มักจะถอดใจเมื่อได้รับคำชี้แจงดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ ทั้งที่การพาพยานบุคคลซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุด เพราะหากไม่เป็นความจริงก็เท่ากับเป็นการแจ้งความเท็จอยู่ ไปเพื่อดำเนินการดังกล่าวดังน่าจะทำได้

และด้วยความกังวลจากเหตุที่ว่า ย. นั้น ไม่มีเอกสารใดๆเลย หากมีการฟ้องร้องคดีเพื่อเป็นบรรทัดฐานในเรื่องดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะของ ย. ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นไปตามความพร้อมของเจ้าตัวที่จะดำเนินการในเงื่อนไขใด สุดท้ายความตั้งใจที่จะฟ้องร้องเขตบางกะปิจึงถูกพับไปก่อน และ ณ วันนี้แม้ว่าทั้งคู่จะยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าต้นรักที่ทั้งคู่กำลังปลูกนั้นจะไม่เติบโตงอกงาม

บนเส้นทางสู่ความมีตัวตน-กับบทพิสูจน์ความรัก(อีกครั้ง)

ทั้งคู่จึงมาติดตามในการทำให้ ย. ได้รับสถานะและมีเอกสารแสดงตน จากข้อเท็จจริงที่มี จะเห็นได้ว่า ย. เข้ามาเมืองไทยและทำงานรับจ้างตั้งแต่ปี 2547 แต่จน ณ ปัจจุบัน ด้วยความไม่รู้จึงไม่ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงาน ดังนั้นในอนาคตเป็นไปได้ว่าหากรัฐไทยมีนโยบายในการรับขึ้นทะเบียนแรงงานเพิ่มเติม ย. นั้นก็สามารถจะไปขอขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อให้ได้รับการบันทึกตัวตนทางกฎหมาย ย.ก็จะไม่ประสบปัฐหาไร้รัฐ และหากสามารถผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่า ย.ก็จะไม่ไร้สัญชาติและจะสามารถทำพาสปร์ต และวีซ่าเพื่อกลับเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย

หากแต่กระบวนการทั้งหมดยังไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรัฐไทยนั้นเปิดให้มีการต่อทะเบียนแรงงาน สำหรับแรงงานที่ขึ้นทะเบียนไว้เดิมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากคำแนะนำของ กิติวรญา รัตนมณี โครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐและไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ย. จึงได้ไปสมัครเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)เขตวัฒนา เพื่อให้มีสถานะเป็นนักเรียน และย. ย่อมจะได้รับการสำรวจ และได้รับบัตร “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน(บัตรเลข 0 )”[2] ซึ่งก็จะเป็นขั้นแรกในการทำให้ ย. มีเอกสารแสดงตน

31 ตุลาคม 2551 ย.ได้เดินทางไปสมัครเรียนที่ ศูนย์ กศน.เขตวัฒนา  แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า “การสมัครจำเป็นต้องมีเอกสารรับรองจากทางราชการ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” รวมถึงระบุว่าผู้สมัครจำเป็นต้อง “หาคนรับรองมาว่าคุณพักอาศัยอยู่ที่ไหน ทำงานที่ไหน มีความประพฤติเป็นเช่นไรโดยเมื่อย.ได้ขอความช่วยเหลือจากเจ้านายให้รับรองให้แต่ก็ถูกปฏิเสธ เนื่องจากวันนั้นเป็นวันสุดท้ายในการรับสมัครเรียน ทำให้ ย.ไม่ได้สมัครเรียนในที่สุด

ดังนั้นโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐจึง ได้ส่งหนังสือความเห็นทางกฎหมายไปยัง ศูนย์กศน. เขตวัฒนาเพื่อทำความเข้าใจ และยืนยันว่าสิทธิในการศึกษาของบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน ที่มาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวนี้ รวมถึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับรองไว้เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548  ซึ่งศูนย์กศน.เขตวัฒนา ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ผูกพันต้องเคารพและให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง (มาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญฯ) และต้องใช้อำนาจโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว (มาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญฯ) ตลอดจนต้องเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยผูกพันเป็นภาคีซึ่งได้รับรองสิทธิดังกล่าว[3]

หนทางจากนี้ของทั้งคู่ จึงต้องรอติดตามความคืบหน้าดังกล่าว พร้อมกับบททดสอบความรักที่ตามมา

ล่าสุด ในอีกไม่กี่วันที่จะขึ้นปีใหม่  ย. ได้ถูกไล่ออกจากงาน ด้วยเหตุผลจากความผิดพลาดเรื่องงานบ่อยครั้ง นอกจากนั้นเหตุผลอีกประการที่ไม่ได้มีการเอ่ยถึงคือการที่ทั้งคู่ได้ติดต่อสอบถามและขอคำแนะนำจากที่ต่างๆเรื่องการขอสถานะของ ย . ซึ่งทำให้เจ้านายไม่สบายใจและเกรงว่าจะได้รับผลกระทบตามมา

“เรื่องที่น่าเศร้าที่สุดกับการทำงานที่นี่ของผมมาตอลด 4 ปี คือ ผมรู้ภายหลังว่าที่เจ้านายไล่ออกเหตุผลหลักๆก็คือ เขากลัวว่าเขาจะเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ผมหาวิธีทำบัตรและเข้าเรียน ตั้งแต่ที่ผมได้ปรึกษาและขออนุญาตเขาตั้งแต่ตอนนั้นที่ถูกปฏิเสธ ผมไม่นึกมาก่อนเลยว่ามันจะเป็นแบบนี้  คนเราเลือกเกิดไม่ได้แถมยังเลือกทำไม่ได้อีกหรือ ผมรู้สึกน้อยใจในตัวเองมา แต่ก็ยังดีที่ได้กำลังใจจากแฟนและคนที่เรารู้จักทำให้มีกำลังใจจะสู้ต่อไป  แต่อย่างไรก็ตามก็หวังว่าสักวันหนึ่งผมจะสามารถทำบัตรได้ ได้เรียนหนังสือ และทางบ้านของแฟนจะยอมรับในตัวผมได้ ผมขอสัญญาเลยว่าผมจะตั้งใจทำงาน และตอบแทนพระคุณแผ่นดินไทยดั่งเช่นคนไทยคนหนึ่ง” ความในใจและความตั้งใจของ ย.


[1] ว 1170 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบเงื่อนไขและการจดทะเบียนสมรสของบุคคลต่างด้าว ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2543

[2] ตามยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติครม. 18 มกราคม 2548

[3] จดหมาย ความเห็นทางกฎหมาย (Legal Opinion) ต่อการดำเนินการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าศึกษาของสถาบันการศึกษา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 ถึงผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขตวัฒนา โดยโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ วันที่ 8 ธันวาคม 2551  https://statelesswatch.wordpress.com/

ธันวาคม 12, 2008 - Posted by | ความเห็นทางกฎหมาย

ยังไม่มีความเห็น

ใส่ความเห็น